ศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย

คงไม่มีสนามกีฬาภายในประเทศแห่งใดจะผูกพันกับคนไทยมากไปกว่า “สนามศุภชลาศัย” ซึ่งมีฐานะเป็นสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่า 80 ปี โดยสนามแห่งนี้นับเป็นสนามกีฬามาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

สนามศุภชลาศัย ตั้งอยู่กลางทุ่งปทุมวัน ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของวังวินเซอร์ วังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2480 และเปิดใช้งานครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2481 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน แต่เดิมใช้ชื่อว่า “สนามกรีฑาสถาน” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ” เมื่อปี พ.ศ. 2484 เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก และเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างสนามกีฬาแห่งนี้

สนามศุภชลาศัย เป็นสนามกีฬากลางแจ้งที่มีอัฒจันทร์ล้อมรอบ ประกอบด้วยสนามฟุตบอลพื้นหญ้าขนาดมาตรฐาน พร้อมลู่วิ่งรอบนอก ปัจจุบันมีความจุผู้ชมจำนวน 35,000 ที่นั่ง โดยครั้งหนึ่งสนามแห่งนี้เคยถูกใช้เป็นสนามเหย้าของฟุตบอลทีมชาติไทยในการต้อนรับการมาเยือนของทีมฟุตบอลระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทีมชาติโรมาเนีย, ทีมชาติฟินแลนด์ หรือแม้แต่ทีมสโมสรชื่อดังอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเอ.ซี. มิลาน ก่อนที่ทีมชาติไทยจะย้ายไปใช้สนามราชมังคลากีฬาสถานเป็นสนามเหย้าแทนในเวลาต่อมา

สนามศุภชลาศัย ได้มีโอกาสจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาซีเกมส์, การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์, การแข่งขันฟุตบอลเอเชี่ยน คัพ, การแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก รอบคัดเลือกโซนเอเชีย, การแข่งขันฟุตบอลในกีฬามหาวิทยาลัยโลก และการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ นอกจากนั้นยังใช้เป็นสังเวียนแข้งของฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์, ฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี รวมไปถึงนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลไทยเอฟเอคัพ และไทยลีกคัพอีกด้วย

นอกจากจะใช้จัดการแข่งขันกีฬาแล้ว สนามศุภชลาศัยยังเคยถูกใช้จัดกิจกรรมอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตไมเคิล แจ็คสัน แดนเจอรัส เวิลด์ ทัวร์ ของราชาเพลงป๊อปผู้ล่วงลับ เมื่อปี พ.ศ. 2536, พิธีทบทวนคำปฏิญาณตนและสวนสนามของลูกเสือและเนตรนารี เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี, งานฉลองปีใหม่ โดยบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีบูชามหามิสซาถึง 2 ครั้ง เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2527 และเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2562

แม้ในปัจจุบันบทบาทของสนามศุภชลาศัยจะถูกส่งต่อไปให้สนามราชมังคลากีฬาสถานรับหน้าที่แทน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาสำคัญระดับชาติ หรือการจัดคอนเสิร์ตทั้งจากศิลปินไทยและต่างประเทศ แต่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์มากมายก็จะยังคงสถิตคู่สนามแห่งนี้ตลอดไป

ค่าตั๋วเข้าชมเกมของ 20 สนามในพรีเมียร์ลีก

เชื่อเหลือเกินว่าแฟนบอลหลายคนในเมืองไทยในตอนนี้กำลังวางแผนในใจว่าจะเก็บเงินบินลัดฟ้าไปเชียร์ทีมโปรด โดยเฉพาะแฟนบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษที่อาจกำลังรวบรวมข้อมูลการเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งวันหยุดเหมาะ ๆ ให้ลงล็อกสมความตั้งใจ เพื่อเป็นการสนับสนุนความฝันเหล่านั้นเราจึงได้นำข้อมูลเกี่ยวกับราคาตั๋วเข้าชมเกมของแต่ละสนามในศึกพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2019 มาฝากกันไล่เรียงจากสนามที่มีค่าเข้าชมถูกที่สุดไปจนถึงสนามที่มีค่าเข้าชมแพงที่สุดตามลำดับครบทั้ง 20 สนามดังนี้

อันดับที่ 1 สนาม Bramall Lane ทีม Sheffield United ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15,813 บาท

อันดับที่ 2 สนาม Turf Moor ทีม Burnley FC ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 16,745 บาท

อันดับที่ 3 สนาม Goodison Park ทีม Everton ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 17,004 บาท

อันดับที่ 4 สนาม King Power Stadium ทีม Leicester City ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 17,695 บาท

อันดับที่ 5 สนาม Villa Park ทีม Aston Villa ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 17,850 บาท

อันดับที่ 6 สนาม Molineux Stadium ทีม Wolverhampton Wanderers ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 19,352 บาท

อันดับที่ 7 สนาม Carrow Road ทีม Norwich City ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,716 บาท

อันดับที่ 8 สนาม Vicarage Road ทีม Watford ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 21,027 บาท

อันดับที่ 9 สนาม St. James’ Park ทีม Newcastle United ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 21,200 บาท

อันดับที่ 10 สนาม St Mary’s Stadium ทีม Southampton ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 21,648 บาท

อันดับที่ 11 สนาม Etihad Stadium ทีม Manchester City ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 22,011 บาท

อันดับที่ 12 สนาม London Stadium ทีม West Ham United ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 22,356 บาท

อันดับที่ 13 สนาม Vitality Stadium ทีม AFC Bournemouth ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 22,615 บาท

อันดับที่ 14 สนาม AMEX Stadium ทีม Brighton & Hove Albion ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 23,824 บาท

อันดับที่ 15 สนาม Selhurst Park ทีม Crystal Palace ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 24,342 บาท

อันดับที่ 16 สนาม Old Trafford ทีม Manchester United ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25,585 บาท

อันดับที่ 17 สนาม Anfield ทีม Liverpool ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 26,068 บาท

อันดับที่ 18 สนาม Stamford Bridge ทีม Chelsea ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 31,851 บาท

อันดับที่ 19 สนาม Emirates Stadium ทีม Arsenal ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 45,904 บาท

อันดับที่ 20 สนาม Tottenham Hotspur Stadium ทีม Tottenham Hotspur ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 48,166 บาท

ราคาตั๋วเข้าชมนี้คือราคาเฉลี่ยจากการนำเอาราคาค่าตั๋วเข้าชมแบบแพงที่สุดและราคาถูกสุดมาคำนวนหาราคากลางดังนั้นในบางเกมราคาตั๋วอาจจะถูกลงกว่านี้หรือแพงกว่านี้ก็เป็นไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเกมนั้น ๆ ผู้มาเยือนเป็นทีมขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ด้วย ซึ่งราคาเฉลี่ยดังกล่าวยังไม่ได้ถูกคำนวณส่วนลดและการเหมาซื้อที่จะทำให้ราคาถูกลงไปอีก สำหรับใครที่วางแผนล่วงหน้าไว้แล้วและมีปัจจัยเพียงพอแนะนำว่าควรรีบจองตั๋วหลังจากพรีเมียร์ลีกประกาศตารางการแข่งขันเลยจะเป็นการดีที่สุด เพราะหากเริ่มเปิดฤดูกาลอาจจะมีการปรับขึ้นราคามากกว่านี้โดยเฉพาะในเกมที่ทีมใหญ่ต้องพบกันเอง

เบียร์ ไส้กรอก กับสุดยอดประสบการณ์ในซิกนัล อิดูน่า พาร์ค

“เสือเหลือง” โบรุสเซีย ดอร์ทมุนแม้จะไม่ใช่ทีมที่ครองความยิ่งใหญ่ในฟุตบอลบุนเดสลีก้าเฉกเช่นบาเยิร์น มิวนิคแถมยังถูกมองว่าเป็นทีมอันดับสองตลอดกาลของฟุตบอลเยอรมัน ความสำเร็จด้านถ้วยรางวัลของทีมเสือเหลืองเองก็เทียบไม่ได้กับทีมใหญ่ ๆ ในยุโรป ทว่าสนามซิกนัล อิดูน่า พาร์คหรือเวสต์ฟาเล่น สตาดิโอนของดอร์ทมุนกลับเป็นสนามอันดับหนึ่งในดวงใจของแฟนบอลทั่วโลก เป็นความใฝ่ฝันของหลาย ๆ คนแม้แต่คนที่ไม่ใช่แฟนบอลของทีมก็ตาม ดังนั้นคงจะพลาดมหันต์ถ้าเราจะไม่หยิบยกเรื่องราวเจ๋ง ๆ ของสนามฟุตบอลแห่งนี้มาฝากกัน

สนามซิกนัล อิดูน่ามีความพิเศษตั้งแต่บริเวณรอบสนาม ก่อนการแข่งขันนักท่องเที่ยวสามารถหาอาหารและเครื่องดื่มชั้นดีทานอุ่นเครื่องก่อนเข้าไปชมเกมได้ Fan Shop รอบสนามจะตกแต่งด้วยสีเหลืองดำและโลโก้ของสโมสรซึ่งแฟนช็อปนี่ก็เป็นอะไรที่เจ๋งสุด ๆ เพราะเหมือนตลาดนัดอาหารขนาดย่อม ๆ สามารถหาอาหารท้องถิ่นฉบับคนเยอรมันทานได้ไม่รู้จบ จนฟุตบอลเริ่มเตะแล้วบางคนยังไม่อยากเข้าสนามเพราะสาละวนอยู่กับของอร่อยเหล่านั้น นอกจากเครื่องดื่มขึ้นชื่ออย่างเบียร์แล้วการไปเยือนถึงถิ่นต้นตำรับแห่งไส้กรอกจึงไม่ควรพลาดไส้กรอกย่างหอม ๆ ที่วางขายอยู่ทั่วเต็มไปหมด ไส้กรอกแต่ละร้านรสชาติจะไม่เหมือนกันเพราะเป็นไส้กรอกโฮมเมดที่ปรุงตามสูตรเฉพาะของแต่ละร้าน การรับประทานก็ต่างกันบางร้านให้ทานเปล่า ๆ ทานคู่กับขนมปัง บางร้านเสิร์ฟคู่กับชีส หลายคนอาจถึงกับเลือกไม่ถูกเพราะมองไปทางไหนก็ละลานตาน่ากินไปเสียหมด

พูดถึงเรื่องนอกสนามแล้วทีนี้เรามาพูดถึงเรื่องในสนามกันบ้าง สนามซิกนัล อิดูน่า พาร์คคือหนึ่งในสิบสังเวียนแข้งที่มีความจุมากที่สุดในยุโรปโดยมีความจุเกินกว่า 80,000 ที่นั่งมากกว่าสนามของทีมยักษ์ใหญ่ในยุโรปเสียด้วยซ้ำ ที่น่าทึ่งคือมีบ่อยครั้งที่ทีมอันดับสองของเยอรมันสามารถขายตั๋วได้หมดเกลี้ยงผู้ชมเต็มความจุของสนาม และหากใครมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในสนามจะทราบดีว่าสัมผัสแรกที่รู้สึกได้คืออาการขนลุกเพราะจุดขายสำคัญของสถานที่แห่งนั้นคือการเชียร์ฟุตบอลของแฟนบอลที่เต็มไปด้วยแพสชั่น เสียงเชียร์ของแฟนบอลทีมนี้ดังกึกก้องตลอดเก้าสิบนาทีและเสียงเชียร์นั้นดังสม่ำเสมอไม่มีแผ่วลงไปแม้ทีมจะประสบกับความพ่ายแพ้ก็ตาม

หลายปีที่แล้วมีสกู๊ปข่าวสั้น ๆ จากสำนักข่าวแห่งหนึ่งรายงานว่าเจ้าหน้าที่ดูแลสนามซิกนัล อิดูน่าถึงขั้นต้องเปลี่ยนไปใช้แผ่นอะครีลิกและกระจกกันกระสุนแทนกระจกธรรมดาที่ปริแตกเพราะต้านทานการกระทบจากคลื่นเสียงไม่ได้คิดดูก็แล้วกันว่าเสียงเชียร์ของแฟนบอลทีมเสือเหลืองดังกระหึ่มขนาดไหน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่หลายคนเฝ้าฝันว่าสักวันหนึ่งจะได้มีโอกาสอยู่ท่ามกลางกองเชียร์ที่ดีที่สุดในโลกสักครั้งในชีวิต

5 สนามฟุตบอลสุดแหวกแนวที่ควรไปเช็คอินสักครั้งในชีวิต

ถ้าเราจะเชิญชวนให้ไปเยือนสนามฟุตบอลชื่อดังอย่างคัมป์ นู, ซานติอาโก้ เบร์นาเบว, โอล แทรฟฟอร์ด, แอนฟิลด์รวมทั้งสนามฟุตบอลของสโมสรชั้นนำระดับโลกต่าง ๆ หลายคนคงมองบนพลางรู้สึกน่าเบื่อ จำเจ ระดับสิบเพราะสนามชื่อกระเดื่องเหล่านี้ถูกตีแผ่โดยสื่อต่าง ๆ ทุกแง่มุมแล้ว แน่นอนว่าเราจะไม่ทำแบบนั้นเพราะสนามฟุตบอลที่ควรไปสักครั้งในชีวิตมันควรจะมีความพิเศษเฉพาะตัวแบบสนามฟุตบอลเหล่านี้ต่างหาก

The Float สนามฟุตบอลเดอะ โฟลทตั้งอยู่บน Marina Bay ไม่ไกล้ไม่ไกลจากเมืองไทยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างดินแดนลอดช่องประเทศสิงคโปร์นี่เอง สนามฟุตบอลแห่งนี้มีความเจ๋งตรงไอเดียที่หน่วยงานเอกชนตั้งใจสร้างให้เป็นสนามฟุตบอลลอยน้ำแถมยังทำสถิติเป็นสนามฟุตบอลลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย การมีเดอะ โฟลทช่วยส่งเสริมให้การค้าในแถบ Marina Bay คึกคักยิ่งขึ้นมีร้านค้ามากมายผุดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวดังนั้นไม่ว่าจะไปช้อป ชิม ชิลหรือเช็คอิน ก็ฟินทั้งนั้น

Henningsvær Stadion สนามฟุตบอลสุดอินดี้แห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในหมู่บ้านชาวประมงประเทศ Norway สนามฟุตบอลแห่งนี้ไม่มีอะไรเป็นมาตรฐานทั้งขนาดสนาม แสตนเชียร์ แถมไม่เคยจัดแข่งขันฟุตบอลแบบเป็นทางการเลย ทว่าบนที่ตั้งอันโอบล้อมด้วยวิวทะเลกับขุนเขาพูดตรง ๆ ว่าถึงจะมีฟุตบอลแข่งอยู่ตรงหน้าหรือนักเตะระดับโลกวิ่งอยู่ในสนามก็คงน่าสนใจน้อยกว่าการดื่มด่ำไปกับบรรยากาศโดยรอบเลยจริง ๆ

Eidi Stadium สนามฟุตบอลกลางแหล่งน้ำสองสายตั้งอยู่ในประเทศ Faroe Islands ประเทศเล็ก ๆ ที่มีภูมิประเทศสวยงามในทวีปยุโรป สนามแห่งนี้คั่นอยู่ตรงกลางระหว่างทะเลสาบ ซอร์แว็กวัตน์กับมหาสมุทรแอตเเลนติกพอดิบพอดี การมีสนามฟุตบอล ณ.ที่แห่งนั้นจึงเกิดเป็นทิวทัศน์ที่น่าเหลือเชื่อจนผู้คนทั่วโลกต่างหลั่งไหลไปเที่ยวชมให้เห็นกับตาแม้จะไม่มีฟุตบอลแข่งขันก็ตาม

Hasteinsvollur สนามฟุตบอลท่ามกลางผืนหญ้าสีเขียวอันกว้างใหญ่ไพศาลตั้งอยู่ในประเทศ Iceland สนามฟุตบอลแห่งนี้นอกจากจะมีผืนหญ้าเขียวขจีสุดลูกหูลูกตาแล้วยังมีภูหินแหลมโผล่ขึ้นมาข้าง ๆ สนามให้เป็นความน่าอัศจรรย์ใจแก่ผู้ไปเยือนอีกด้วย

Ottmar Hitzfeld Stadium สนามฟุตบอลที่ตั้งตามชื่อเทรนเนอร์ระดับตำนานของทีมเสือใต้ บาเยิร์น มิวนิคแห่งนี้เป็นสนามฟุตบอลที่ตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของยุโรป พิกัดของสนามอยู่บนขุนเขาแห่งหนึ่งในเมือง Zermatt ประเทศ Switzerland ด้านหนึ่งของสนามเป็นผาลาดชันมองเห็นวิวภูเขาเขียว ป่าสน และภูเขาหิมะราวกับอยู่ในดินแดนเทพนิยายก็ไม่ปาน

สนามฟุตบอลทั้งห้าแห่งนี้เราไม่อยากให้คุณพลาดไปเยี่ยมชมสักครั้งในชีวิต เพราะการไม่มีเกมอย่างเป็นทางการไปแข่งขันทำให้สนามเหล่านี้อาจไม่ยืนยงนัก อาจจะหายไปตามกาลเวลา ถูกภัยธรรมชาติทำลายหรือพื้นที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ดังนั้นเมื่อมีโอกาสอย่าลืมแวะไปเช็คอินให้ฟินในอารมณ์ถึงแม้คุณจะไม่ใช่แฟนฟุตบอลเลยก็ตาม

สนามฟุตบอลที่ดีที่สุดในพรีเมียร์ลีก

ถ้าถามแฟนฟุตบอลพรีเมียร์ลีกว่าสนามฟุตบอลของสโมสรไหนคือสนามที่ดีที่สุดแน่นอนว่าหลายคนคงนึกถึงสนามความจุมหาศาลอย่างโอลด์ แทรฟฟอร์ด ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สนามสุดคลาสสิคอย่างแอนฟิลด์ของลิเวอร์พูล สนามเอมิเรต สเตเดี้ยมของอาร์เซน่อลหรือสแตมฟอร์ด บริจน์ของเชลซี แน่นอนว่าในด้านความประทับใจไม่มีคำตอบไหนผิดเลยแต่ในแง่ของคุณสมบัติทางเทคนิคแล้ว “ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยม” รังเหย้าแห่งใหม่ของไก่เดือยทองต่างหากที่ถูกสื่อหลายสำนักยกให้เป็นสนามฟุตบอลที่ดีที่สุดในพรีเมียร์ลีกด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

การก่อสร้าง การก่อสร้างท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยมเป็นการสร้างทับที่สนามเดิมอย่างไวท์ ฮาร์ต เลนซึ่งยังเปิดใช้อยู่ด้วย พูดง่าย ๆ คือทุบของเก่าออกทีละส่วนแล้วสร้างต่อเนื่องกันไปเลย วิศวกรรมการก่อสร้างนี้ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ในวงการนั่นจึงทำให้ถูกถ่ายทำเป็นสารคดี หลายสถาบันการศึกษาใช้องค์ความรู้นี้เป็นโมเดลพัฒนาแนวคิดสถาปนิกรุ่นใหม่ ๆ อีกด้วย

ดีไซน์ หน้าตาของสนามใหม่ล่าสุดของวงการฟุตบอลอังกฤษนี้แตกต่างจากสนามฟุตบอลอื่น ๆ ที่มีรูปทรงจำเจเต็มไปด้วยท่อนเหล็กกับก้อนอิฐคล้ายคลึงกันไปเสียหมด ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยม มีความสวยงามทันสมัยให้ความรู้สึกหรูหรามีระดับ สื่อกีฬาบางเจ้าถึงขั้นยกให้เป็นสนามฟุตบอลที่สวยงามที่สุดในยุโรปไปแล้วด้วยซ้ำ

สิ่งอำนวยความสะดวก ในยุคดิจิตอลเช่นนี้ทีมไก่เดือยทองก็ไม่พลาดเอาใจคนยุคใหม่ด้วยการปล่อย WIFI ครอบคลุมทุกพื้นที่ในสนามนอกจากนี้สนามสุดเจ๋งยังขยายที่นั่งผู้ชมให้มีขนาดใหญ่นั่งสบายกว่าของเก่า มีที่นั่งซึ่งออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการโดยเฉพาะ ในส่วนของร้านอาหารมีอยู่กว่า 60 ร้านคอยให้บริการแถมมีบาร์ที่ยาว 65 เมตรถือเป็นบาร์ที่ยาวที่สุดในยุโรปสามารถเสิร์ฟเบียร์ 10,000 แก้วต่อชั่วโมงได้อีกต่างหาก

Multifunctional Stadium ยามไม่มีคิวแข่งขันสนามแห่งนี้ยังสามารถทำเงินได้ด้วยการปล่อยให้เช่าจัดคอนเสิร์ต ตั้งเวทีมวยชั่วคราว แข่งขัน NFL โดยพื้นสนามสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อความต้องการดังกล่าวได้แบบไฮเทคสุด ๆ ในขณะที่พื้นที่ด้านในของสนามในยังมีห้องให้จัดประชุม จัดเลี้ยง มีห้องพักให้บริการ ทั้งยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสนาม 365 วันเรียกได้ว่าครบวงจรและสร้างเม็ดเงินได้ไม่หยุดเลยจริง ๆ

ข่มขวัญคู่แข่ง ด้วยความคำนึงถึงผลงานของทีมเป็นหลักทำให้ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยมถูกออกแบบให้เก็บกักเสียงไว้ด้านใน เสียงเชียร์ของบรรดา Yid Army จะดังกึกก้องเป็นพิเศษและนั่นทำให้ทีมผู้มาเยือนที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอมีขาสั่นกันแน่นอน ส่วนนักเตะของสเปอร์เสียงเชียร์เหล่านี้จะกระตุ้นให้พวกเขารู้สึกฮึกเหิมยิ่งขึ้น ดุดันกว่าเดิม คงไม่ต้องบรรยายว่านักเตะระดับโลก+โปเช็ตติโน่+พลังใจผลลัพธ์จะออกมาน่ากลัวขนาดไหน? …แค่คิดก็สยองแล้ว

ข้อดีของสนามแห่งนี้ยังมีอีกมากทั้งการเอื้อเฟื้องานให้กับชุมชนและคนท้องถิ่น ร้านขายสินค้าที่ระลึกที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป การเดินทางที่แสนสะดวกสบายดังนั้นถ้ามีโอกาสไปเยือนตอนเหนือของลอนดอนเราจึงไม่อยากให้คุณพลาดแวะไปเยือน ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยม รังเหย้าแห่งใหม่ของทีมไก่เดือยทอง

นับถอยหลังวันอำลา ซาน ซีโร่

“ซาน ซีโร่” หรือ “จูเซ็ปเป้ เมอัสซ่า” สนามแข่งร่วมของเอซี มิลานกับอินเตอร์ มิลานถือเป็นสังเวียนแข้งที่อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของโลกฟุตบอลมาโดยตลอด มีเหตุการณ์ประทับใจหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้น มีนักเตะระดับโลกหลายคนเคยจารึกชื่อลงบนผืนหญ้าในสนามแห่งนี้ และนี่คือสนามที่แฟนบอลแทบทุกคนใฝ่ฝันว่าจะมีโอกาสได้ไปเยือนสักครั้งแม้ไม่ใช่แฟนบอลของสองทีมยักษ์ดังกล่าวก็ตาม แต่มาวันนี้ซาน ซีโร่กำลังจะเหลือเพียงตำนานดังนั้นเราจึงควรทำความรู้จักกับสนามอันทรงเกียรติแห่งนี้ให้มากขึ้นก่อนจะเหลือไว้แค่ภาพถ่ายและในความทรงจำ

สนามจูเซ็ปเป้ เมอัสซ่าสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1925 เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 19 กันยายน ค.ศ. 1926 หรือ 93 ปีที่แล้วมีสภาเมืองมิลานถือครองสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ เดิมทีเป็นสนามที่ถูกใช้โดยทีมเอซี มิลานเพียงสโมสรเดียวแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แยกตัวของบุคลากรในทีมเอซี มิลานออกไปก่อตั้งสโมสรใหม่ที่ชื่ออินเตอร์นาซิอองนาล มิลาโน่สนามแห่งนี้จึงถูกใช้ร่วมกันในปี 1947 เป็นทรัพย์สินร่วมของทั้งเอซี มิลาน อินเตอร์ มิลานและสภาเมืองมิลาน เป็นสนามที่มีความจุกว่า 82,955 ที่นั่ง เป็นอันดับ 4 ในด้านสถิติสนามความจุสูงสุดของยุโรประดับสโมสร

ซาน ซีโร่เป็นชื่อของตำบลที่ตั้งตามชื่อของนักบุญไซรัสหรือ Saint Syrus คำว่า Saint ในภาษาอิตาเลี่ยนเขียนว่า San ออกเสียงว่าซานส่วนนามของนักบุญ Syrus ในภาษาละตินใช้เป็น Syro เมื่อเขียนให้เป็นภาษาอ่านเพื่อการออกเสียงอย่างถูกต้องแบบอิตาเลี่ยนจะไม่นิยมใช้ y เพื่อออกเสียงอีหรืออิจึงแทนที่ด้วยอักษร i กลายเป็นตำบลนาม San Siro

จูเซ็ปเป้ เมอัสซ่าเป็นชื่อของนักฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเคยรับใช้ทั้งสองสโมสร โดยทั้งเอซี มิลานและอินเตอร์ มิลานเห็นพ้องต้องกันว่าจะนำชื่อของเขามาตั้งเป็นชื่อสนามเพื่อเป็นเกียรติแก่ตำนานนักเตะคนดังกล่าว

San Siro ผ่านการปรับปรุงสนามมาแล้วถึงสี่ครั้งในปี 1935, 1955, 1990, 2015 สภาพอาคารในตอนนี้ค่อนข้างย่ำแย่และผู้บริหารอินเตอร์ มิลานเล็งเห็นว่าสดาดิโอนอายุเกือบร้อยปีแห่งนี้เกินเยียวยาแล้วจึงหารือกับผู้บริหารเอซี มิลานจนได้ข้อสรุปว่าทั้งสองทีมจะลงขันเป็นเงินกว่า 700 ล้านยูโรเพื่อก่อสร้างสนามแห่งใหม่บนพื้นที่เดิม ซึ่งก็คือการทุบทิ้งซาน ซีโร่เพื่อสร้างใหม่นั่นเอง

การระดมทุนสร้างสนามใหม่รวมทั้งแผนงานทั้งปวงเสร็จสิ้นไปแล้วบนโต๊ะเจรจาของทั้งสองสโมสรโดยในบทสรุปสนามแห่งใหม่ที่ยังไม่มีชื่อนี้จะเสร็จสิ้นกระบวนการและเปิดใช้ในปี 2023 สิ่งเดียวที่เป็นอุปสรรคในตอนนี้คือสภาเมืองมิลานที่ยื่นคำขาดว่าพวกเขาต้องได้ถือครองสิทธิ์เป็นเจ้าของสนามแห่งใหม่เหมือนเดิม ซึ่งดูจากรูปการณ์แล้วแฟนบอลยังพอมีเวลาให้เก็บเงินพาตัวเองไปซึมซับความทรงจำที่ซาน ซีโร่เพราะงานนี้ผู้เกี่ยวข้องคงจะเจรจากันยืดเยื้อพอสมควร